Monday, June 15, 2015

โรคประจำตัว และการกินยาทุกวัน วันละหลายเวลา

ปัญหานี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า polypharmacy ครับ นิยามมันคือกินยาวันละมากกว่า 5 ชนิด

เมื่อคุณมีอายุมากขึ้นแล้วไปหาหมอ ไม่ว่าเป็นเพราะป่วยหนัก หรือเพื่อตรวจสุขภาพ ก็อาจตรวจพบสิ่งที่เรียกว่า โรคประจำตัว แล้วก็สั่งให้คุณกินยาทุกวัน วันละหลายเวลาเพื่อควบคุมโรคเหล่านั้น

หลายคนอาจไม่ชอบกินยาทุกวัน ทำให้กินยาโรคประจำตัวไม่สม่ำเสมอ บ้างก็ขาดกินยา ไม่ยอมกินยา ต่อมาก็อาจจะถูกหามมาโรงพยาบาลด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต พอหมอซักประวัติหาสาเหตุ หมอก็สรุปว่าเป็นเพราะ "ไม่ยอมกินยา"

บอกตามตรง ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบแน่ ถ้าถูกบอกให้กินยาสม่ำเสมอทุกวัน ผมจะขอบอกเหตุผลครับ ที่คุณควรกินยา หรือไม่ควรกินยาครับ

เหตุผลข้อแรกที่ควรกินยาครับ คือ โอกาสที่คุณจะถูกหามมาโรงพยาบาลด้วยเรื่องโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตัดแขน ตัดขา ตามัว ตาบอด เท้าชา เป็นแผลที่เท้า ลดน้อยลงแน่นอนครับ ส่วนโรคหัวใจ โรคไต ถ้าว่ากันตามหลักฐานทางการแพทย์ (evidence-based) เขาว่าลดลงครับ

แต่มันมีหลายๆกรณีที่การกินยาก่อให้เกิดโทษเหมือนกัน ข้อแรกก็คือ บางครั้ง ยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้เหมือนกัน แม้ว่ายาส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงครับ อาการข้างเคียงที่ว่าได้แก่ แพ้ยา หัวใจเต้นช้า เกลือแร่เลือดผิดปกติ ขาบวม หน้ามืดง่าย เหนื่อย อ่อนเพลีย ไตทำงานแย่ลง ปวดแข้งปวดขา ถ้าไตหรือตับทำงานแย่ลงก็จะมีปัญหาได้อีกครับ เกิดจากการที่ระดับยาในเลือดสูงเกิน เช่น หมดสติ เหงื่อออกใจสั่น เหนื่อย เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ผมแนะนำให้คุณรู้จักยาทุกชนิดที่คุณกินครับ ว่าชื่อตัวยาอะไร กินเพื่อแก้อะไร มีอาการข้างเคียงอย่างไรได้บ้าง

โทษข้อที่สองที่สำคัญ คือ ถ้าคุณกินยาเยอะๆ หลายชนิด โดยเฉพาะมากกว่า 5 ชนิด ก็จะมีปัญหาจากยาบางคู่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ จนทำให้เกิดพิษจากยา ดังเช่นอาการข้างเคียงที่กล่าวข้างต้น คือระดับยาสูงเกินไป บางครั้งก็อาจทำให้ระดับยาต่ำเกินไปจนเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้เช่นกัน

โทษข้อที่สามที่หมอมักไม่ได้พูดถึงและไม่เห็นความสำคัญ คือ การกินยามันทำให้คุณรู้สึกว่าป่วย แล้วหันมาพึ่งพายาและคำแนะนำจากหมอมากขึ้น พึ่งพาตัวเองน้อยลง มีความมั่นใจในตัวเองลดลง สุขภาพจิตซึมเศร้า ได้

ดังนั้น ขอสรุปคำแนะนำนะครับ

  1. ยาที่ควรกินแน่ๆ ไม่ควรขาดยา ได้แก่ ยาความดัน ยาโรคเบาหวาน ยาโรคไต ยาโรคตับ ยาโรคไทรอยด์ เพราะหากไม่กินจะทำให้ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือถึงแก่ชีวิตได้ ยาโรคหัวใจและยาโรคอื่นๆก็เช่นเดียวกัน แต่คนไข้อาจเห็นประโยชน์จากการกินยาไม่ชัด แต่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าได้ประโยชน์
  2. ควรกินยาให้น้อยชนิดที่สุด คือกินยาที่เท่าที่จำเป็น ถ้ารู้สึกว่ามันเยอะเกินไป ก็ถามหมอก็ได้ ขอให้ลดยา
  3. รู้จักยาทุกชนิดที่ตัวเองกินอยู่ ว่าชื่อตัวยาอะไร รักษาโรคอะไร มีอาการข้างเคียงอย่างไรบ้าง กินแล้วได้ประโยชน์แค่ไหน โดยอาการข้างเคียงและประโยน์ที่ได้รับจากการกินยาควรเป็นสิ่งที่คนไข้เห็นได้ชัด มากกว่าที่แพทย์เห็น
  4. ยาสำคัญบางชนิดอาจต้องรู้จักเป็นพิเศษ และจำชื่อได้เมื่อแพทย์ถาม ได้แก่ ยาวอร์ฟาริน และยาละลายลิ่มเลือด (แอสไพริน หรือพลาวิก หรือโคพิโดเกรล)

No comments:

Post a Comment